share Facebook x (twitter) LINE
หลักการและเหตุผล
การออกกำลังกายและการกีฬา ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการส่งเสริมสุขภาพที่จะช่วยป้องกันและรักษาร่างกายจากโรคภัยต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายในห้าอันดับแรกของประชาชนไทย ดังนั้นการลดอัตราการเกิดโรคดังกล่าวจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะส่งผลให้ลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาสุขภาพ ของประเทศได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้การออกกำลังกายและ การกีฬายังทำให้ร่างกายมีสมรรถภาพทางการกีฬาเพิ่มขึ้น การฝึกอย่างถูกต้องทำให้นักกีฬามีสถิติการแข่งขันที่ดีและ อาจได้อยู่ในระดับชาติหรือระดับโลกได้ การศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกายในนักกีฬาจึงเป็น การเพิ่มชื่อเสียงในด้านของการกีฬาของประเทศได้เป็นอย่างดี อันจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาความเป็นผู้นำทางด้านการกีฬา แต่ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการ และการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา ได้แก่ สรีรวิทยาของการออกกำลังกาย การบริหารจัดการ จิตวิทยาทางการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา โภชนาการการกีฬา จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของสถาบันอุดมศึกษา ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในเชิงวิจัย ตรวจสอบ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและ การกีฬา ตลอดจนสามารถในการสื่อสารและรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมที่จะแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการออกกำลังกายและการกีฬา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเปิดหลักสูตร ที่ครอบคลุมในทุกด้านที่มีความสำคัญต่อการออกกำลังกายและการกีฬา ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและ สังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา มีการพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความรู้แต่ละแขนงวิชาได้มีการประสาน สอดแทรกและเชื่อมโยงกัน ซึ่งนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในวงการการออกกำลังกายและ การกีฬาร่วมกันแบบสหสาขา ดังนั้น คณาจารย์จากคณะต่างๆ ประกอบด้วยคณะเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ จึงร่วมกันจัดทำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นหน่วยประสานงาน ในการจัดทำหลักสูตรการบริหารจัดการร่วมกันจะสามารถรองรับสถานการณ์ ของประเทศปัจจุบัน ที่งบประมาณการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษามีปริมาณค่อนข้างจำกัด ครุภัณฑ์การศึกษาถูกจำกัดด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี 2540 ดังนั้นเพื่อให้การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มีศักยภาพในการผลิตบุคลากรเพื่อสอดคล้องกับความต้องการนักวิจัย เพื่อการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในคณะต่างๆ ให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในด้านบุคลากร ครุภัณฑ์และวัสดุอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ประหยัดงบประมาณ นำไปสู่การสนับสนุนการวิจัยด้านการออกกำลังกายและการกีฬา และการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขด้วยความรู้ทางด้านการออกกำลังกายและการกีฬา นอกจากนี้ยังนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับนักวิจัยในสถาบันต่างประเทศ เพื่อความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการออกกำลังกายและการกีฬา อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ จึงได้จัดทำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬานี้ขึ้น
ปรัชญา
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกาย เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา สามารถบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ จิตวิทยา การจัดการและโภชนาการ ในการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา ตลอดจนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1) มีความรู้ความสามารถขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา สรีรวิทยา โภชนาการ การจัดการ และจิตวิทยาการกีฬา
2) มีความสามารถในการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา และมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
3) มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา
4) มีคุณธรรม จริยธรรมและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม